เรื่องย่อ ซากุระซากะ โคเฮ หนุ่มออฟฟิศหน้าใหม่พึ่งเรียนจบผ่านการหางานอย่างยากลำบากจนเข้าบริษัทพัฒนาระบบแห่งหนึ่งจนได้ แต่ผู้รับผิดชอบการอบรมของเขา มุโรมิ ริกกะ กลับเป็นผู้หยิงที่ดูยังไงก็อายุแค่หลักสิบ แถมยังเป็นพวกบ้างานขั้นสุดยอด!? โคเฮต้องต่อสู้กับภาระงานภายใต้การควบคุมของเธอผู้มีงานยุ่งมากและไม่ใจดีเลยสักนิด บางครั้งก็ถูกชี้แนะอย่างเข้มงวด บางครั้งก็ถูกปล่อยปละละเลย แถมเพราะประธานไปรับงานโดยไม่ดูว่าพนักงานไม่พอ โคเฮจึงโดนจับรับผิดชอบงานจริงในทันทีทันใด- เรื่องราวตลกชวนหัวที่สะท้อนความจริงแสนโหดร้ายของชีวิตวิศวกรระบบมาถึงแล้ว

  • เรื่อง: กรรมกรไอที ชีวิตนี้ต้องสตรอง! (Nareru SE)
  • ค่าย: A-Plus!
  • ผู้แต่ง: Kouji Natsumi
  • ผู้วาดภาพประกอบ: Ixy
  • ผู้แปล: พีรวิชญ์ เป้าประยูร
  • แนว: Comedy (?)
  • ราคา: เล่ม 1 และ 2 ราคาเล่มละ 160 บาท
  • ปัจจุบัน: ออกถึงเล่ม 2

ความคิดเห็น

เนื้อเรื่อง

ส่วนตัวที่ซื้อเรื่องนี้มาเพราะอยากเห็นชีวิตการทำงานจริง ว่าเข้าเป็นยังไงกันบ้าง เปิดมาส่วนบทนำกับ Layer 1 ดูจะเป็นปัญหาชวนตีกับ HR มากกว่า ผมไม่ค่อยชอบบทส่วนนี้เท่าใดนักเพราะไม่รู้ในอนาคตจะต้องโดนหลอกแบบนี้หรือเปล่า แต่มองอีกมุมนึงได้เห็นการหลอกแบบนี้ก็นับว่าเป็นการเตรียมตัวทีดีเหมือนกันนะ สำหรับ Layer2 เป็นการฝึกงานตั้งแต่ 0 จริงๆ แบบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับระบบพวกนี้เลย ถึงส่วนตัวผมจะรู้สึกไม่ค่อยโอเคกับการให้คนแบบนี้เข้ามาทำงานจริงๆ แต่พอผมลองมองไปที่โลกแห่งความจริงตอนนี้ คงต้องบอกว่า… (ไม่ขอพูดในส่วนนี้ดีกว่านะ) สำหรับใน Layer3 นี่ดูเป็นวันสบายๆดีนะครับ เหมือนกับได้คลายเครียด ก่อนที่จะมาเริ่มทำงานจริงจังกันใน Layer4 แบบนี้สิที่หวังไว้ สำหรับเรื่องศัพท์เทคนิคบอกได้เลยว่าเรื่องนี้ศัพท์เทคนิคเยอะครับ ถ้าไม่รู้จักมักคุ้นกับสายงานไอทีมาก่อนคงจะจิตนาการชื่ออุปกรณ์อย่างแร็กหรือคอนโซลไม่ออก ไม่ค่อยอยากแนะนำให้คนที่ไม่ค่อยรู้จักด้านไอทีอ่านเท่าไร ถึงในเรื่องจะอธิบายไว้บ้าง แต่ผมก็คิดว่ามันลึกไม่พอที่จะทำให้ที่จะเห็นภาพได้ ต้องบอกเลยว่าตอนอ่านบางช่วงผมถึงกับหยิบเครื่องคิดเลขมากดคำนวณพวกจำนวนไอพี/จำนวนพอร์ตตามเลยทีเดียว

การแปล

การแปลเนื้อเรื่องโดยทั่วไปถือว่าโอเคเลยทีเดียว อ่านแล้วเข้าใจง่าย แต่ขอติเรื่องการแปลศัพท์เทคนิค ทางผู้แปลพยายามเว้นศัพท์เทคนิคไว้ อย่างเช่นหน้า 294 พิมพ์ว่า “typo..?” ถ้าแปลว่า “พิมพ์ผิด…?” มันก็ตรงตามความหมายแต่อารมณ์ที่ให้มันแตกต่างมากทีเดียว ผมโอเคกับส่วนนี้มาก แต่มีบางทีที่ดันเผลอแปลศัพท์เทคนิคไปด้วย ตัวอย่างเช่น หน้า 266 “เฟลแบ็ค?” สิ่งแรกที่แวบเข้ามาในหัว คือเคยได้ยินแต่ Fallback หืม… หรือว่าที่ญี่ปุ่นเขาเรียกไม่เหมือนกันนะ แต่พออ่านไปถึงหน้า 298 “-ฟอลแบ็ค เถอะค่ะ” เอิ่ม แปลผิดสินะ แปลผิดจริงๆด้วยสินะ รู้สึกเสียอารมณ์นิดหน่อยครับ ศัพท์เทคนิคนี่เว้นไว้ดีกว่านะ แล้วก็มีอีกแบบด้วย ที่ก็อปมาแล้ว แต่น่าไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างหน้า 184 “<lms” ควรจะเป็น “<1ms” ผมค่อนข้างแน่ใจว่าที่พิมพ์เป็นตัว l ไม่ใช่เลข 1 เมื่อดูจากฟ้อนต์ แล้วก็ หน้า 183 “C:usersrikka” น่าจะเป็น “C:¥users¥rikka” ตามแบบฉบับ Windows ญี่ปุ่นหรือ “C:\users\rikka” ตามแบบฉบับบ้านเรา อันนี้คาดว่าน่าจะเป็นปัญหามาจากฟ้อนที่ใช้พิมพ์

สรุป

เรื่องนี้เหมาะแก่ผู้ที่สนใจด้านไอที แต่ควรมีความรู้มาแล้วบ้างระดับหนึ่งเพื่อให้เข้าใจภาพอุปกรณ์และการทำงานต่างๆได้ดีขึ้น ถ้าท่านไม่มีความรู้ด้านไอทีมา ท่านก็ยังสามารถอ่านได้ เนื่องจากมีช่วงที่เป็นชีวิตประจำวันอยู่เหมือนกัน

ให้คะแนน

  • เนื้อเรื่อง 4/5
  • คำแปล 3/5
คัดลอกไปยังคลิปบอร์ดแล้ว